ผลงานวิจัย : คณะรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ : มหาวิทยาลัยพะเยา

การสื่อสารทางการเมืองในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดพะเยา พ.ศ. 2562 ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560

บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่ออภิปรายสถานการณ์การเลือกตั้ง การสื่อสารทางการเมืองระหว่างผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตและผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดพะเยา ภายใต้เงื่อนไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 และระบบการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม โดยศึกษาจากข้อมูลเชิงสถิติ ข้อมูลเชิงเอกสาร และการสัมภาษณ์ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งและผู้สิทธิ์เลือกตั้ง ในช่วงระหว่างการประกาศพระราชกฤษฎีการเลือกตั้ง (วันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2562) ถึงวันเลือกตั้งฯ (24 มีนาคม พ.ศ. 2562) ผลการศึกษาพบว่า 1) สถานการณ์การเลือกตั้งจังหวัดพะเยามีการเปลี่ยนขั้วอำนาจทางการเมืองสู่พรรคการเมืองใหม่ อย่างพรรคพลังประชารัฐ และพรรคอนาคตใหม่ โดยการลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. แบบแบ่งเขตจังหวัดพะเยา มีจำนวนสูงถึง 85 ราย ซึ่งเป็นจำนวนมากที่สุดนับตั้งแต่การเลือกตั้งฯ โดยเป็นผลมาจากวิธีคำนวณคะแนนตามระบบแบบจัดสรรปันส่วน ที่ต้องนำคะแนนจากการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตมาคำนวณหาจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนฯแบบรายชื่อ 2) การสื่อสารทางการเมืองที่เกิดขึ้น เป็นการสื่อสารแบบหลายทิศทางทั้งจากสารที่เปิดเผยและไม่เปิดเผย โดยในกรณีของผู้สมัครรับเลือกตั้งได้วิเคราะห์ออกแบบสารและรูปแบบการส่งสารให้ไปถึงกลุ่มผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งตามอาชีพและอายุ ในขณะที่ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งก็มีการรับและส่งสารที่แตกต่างกันตามช่วงวัยโดยพบว่าช่วงอายุระหว่าง 18 – 22 ปี และอายุระหว่าง 23 – 36 ปี สนใจสารของพรรคการเมือง ไม่ว่าจะเป็นกรณีการนำเสนอตัวบุคคลที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหรือนโยบายของพรรค ในขณะที่ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งช่วงอายุระหว่าง 36 – 59 และ 60 ปีขึ้นไป สนใจสารของผู้สมัครฯแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ทั้งนี้อาจเป็นเพราะประสบการณ์ของผู้สิทธิ์เลือกตั้งกลุ่มนี้ในการรับทราบความเป็นตัวแทนของผู้จะดำรงตำแหน่ง ส.ส. ในการตอบสนองความต้องการของคนในพื้นที่ได้ดีกว่านโยบายระดับชาติ นอกจากนี้ยังพบว่าระบบการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญฯนี้ ได้เอื้อประโยชน์ต่อการสื่อสารของพรรคการเมืองขนาดใหญ่ ที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งต่างมีปัจจัยสนับสนุนทางเศรษฐกิจที่ดีจึงสามารถสื่อสารได้หลากหลายวิธีกว่า นอกจากนี้การที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งฯ สามารถผลิตสื่อเชิงนโยบายได้ช้าอันเกิดจากการที่กฎหมายกำหนดให้คณะกรรมการเลือกตั้งตรวจสอบนโยบายของพรรคการเมือง จึงทำให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขต จังหวัดพะเยา เน้นการสื่อสารตัวบุคคลมากกว่านโยบายพรรค โดยผลกระทบดังกล่าวได้นำไปสู่การซื้อเสียงซึ่งสามารถทำให้ระบบอุปถัมภ์เกิดขึ้นได้