ผลงานวิจัย : คณะรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ : มหาวิทยาลัยพะเยา
ปัจจัยที่มีผลต่อการมีส่วนร่วมในการพัฒนาท้องถิ่น ของประชาชนตำบลแม่ใส อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา
การวิจัยเรื่อง ปัจจัยที่มีผลต่อการมีส่วนร่วมในการพัฒนาท้องถิ่น ของประชาชนตำบลแม่ใส อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา ในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) ศึกษาความรู้ความเข้าใจ ทัศนคติ การมีส่วนร่วม และการรับรู้บทบาทขององค์การบริหารส่วนตำบลแม่ใสเกี่ยวกับการพัฒนาท้องถิ่นของประชาชน (2) ศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการมีส่วนร่วมในการพัฒนาท้องถิ่นของประชาชน และ (3) ศึกษาปัญหา อุปสรรค และให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมในการพัฒนาท้องถิ่นของประชาชน วิธีดำเนินการวิจัย ได้ทำการศึกษาเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดกรอบแนวคิดในการวิจัย ประชากรในการวิจัย คือ ประชาชนตำบลแม่ใส อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา จำนวน 2,145 ครัวเรือน และทำการสุ่มตัวอย่าง 2 ขั้นตอน คือ (1) การใช้สูตรคำนวณหาขนาดของกลุ่มตัวอย่างของ Taro Yamane ซึ่งได้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 360 ครัวเรือน จาก 12 หมู่บ้านๆ ละ 30 ครัวเรือน และ (2) การสุ่มตัวอย่างแบบบังเอิญ เพื่อทำการเก็บรวบรวมข้อมูลรายครัวเรือน เครื่องมือในการวิจัย คือ แบบสอบถามเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมในการพัฒนาท้องถิ่นของประชาชนตำบลแม่ใส อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา สถิติที่ใช้ในการวิจัย คือ (1) สถิติเชิงพรรณนา ได้แก่ ค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และ ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และ (2) สถิติเชิงอ้างอิง ได้แก่ ค่า t-test ค่า F-test และค่าสหสัมพันธ์ ผลการวิจัย พบว่า 1. ความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับการพัฒนาท้องถิ่น กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับการพัฒนาท้องถิ่นในภาพรวม อยู่ในระดับมาก แต่มีบางข้อที่กลุ่มตัวอย่างมีความรู้ความเข้าใจฯ ในระดับปานกลางเท่านั้น ได้แก่ (1) การพัฒนาท้องถิ่นที่ดี ต้องเน้นการมีรายได้หรือมีค่าตอบแทนจากการพัฒนาเป็นหลักเท่านั้น (2) การพัฒนาท้องถิ่นที่ดี ไม่จำเป็นต้องสร้างเครือข่ายการทำงานร่วมกับหน่วยงานภายนอก และ (3) การทำงานพัฒนาท้องถิ่นที่ดี ต้องเน้นเฉพาะคนวัยหนุ่มสาวเท่านั้น 2. ทัศนคติเกี่ยวกับการพัฒนาท้องถิ่น กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีทัศนคติเกี่ยวกับการพัฒนาท้องถิ่นอยู่ในระดับมาก แต่มีบางข้อที่กลุ่มตัวอย่างมีทัศนคติฯ ในระดับปานกลาง ได้แก่ (1) รู้สึกเบื่อหน่ายต่อการทำงานพัฒนาชุมชนร่วมกับผู้อื่น และ (2) ไม่เห็นด้วยว่าการมีผู้นำในการพัฒนาเป็นเรื่องที่สำคัญ 3. การมีส่วนร่วมในการพัฒนาท้องถิ่น กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีส่วนร่วมในการพัฒนาท้องถิ่นในระดับมาก โดยเรียงตามลำดับจากมากไปหาน้อย คือ (1) ด้านการวางแผน (2) ด้านการดำเนินงาน (3) ด้านการตรวจสอบการดำเนินงาน และ (4) ด้านการปรับปรุงการดำเนินงาน แต่มีบางข้อที่กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีส่วนร่วมในการพัฒนาท้องถิ่นอยู่ในระดับปานกลางเท่านั้น ได้แก่ (1) มีการตรวจสอบการใช้งบประมาณของคณะกรรมการหมู่บ้านในโครงการพัฒนาท้องถิ่นต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ และ (2) มีโอกาสในเสนอข้อคิดเห็นในการพัฒนาและปรับปรุงการทำงานพัฒนาหมู่บ้าน/ตำบล ให้แก่หน่วยงานภายนอก 4. บทบาทขององค์การบริหารส่วนตำบลแม่ใสเกี่ยวกับการพัฒนาท้องถิ่น กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เห็นว่า องค์การบริหารส่วนตำบลแม่ใสมีบทบาทเกี่ยวกับการพัฒนาท้องถิ่นในภาพรวม อยู่ในระดับมาก เรียงตามลำดับจากมากไปหาน้อย คือ (1) บทบาทด้านการส่งเสริม (2) บทบาทด้านภาวะผู้นำ (3) บทบาทด้านการอำนวยความสะดวก และ (4) บทบาทด้านการให้คำปรึกษา 5. ปัจจัยที่มีผลต่อการมีส่วนร่วมในการพัฒนาท้องถิ่น ของประชาชนตำบลแม่ใส อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา ประกอบด้วย อายุ อาชีพ ทัศนคติเกี่ยวกับการพัฒนาท้องถิ่น การรับรู้บทบาทขององค์การบริหารส่วนตำบลแม่ใสเกี่ยวกับการพัฒนาท้องถิ่น นอกจากนี้ พบว่า มีความสัมพันธ์ระหว่างความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับการพัฒนาท้องถิ่น กับ ทัศนคติเกี่ยวกับการพัฒนาท้องถิ่นของประชาชน และมีความสัมพันธ์ระหว่างทัศนคติเกี่ยวกับการพัฒนาท้องถิ่น กับ การรับรู้บทบาทขององค์การบริหารส่วนตำบลแม่ใสเกี่ยวกับการพัฒนาท้องถิ่นของประชาชน 6. ปัญหาอุปสรรค ได้แก่ (1) การคมนาคมไม่สะดวก (2) ประชาชนขาดความร่วมมือในการทำงานพัฒนา (3) ไม่มีระบบจัดการน้ำ (4) ไม่มีถังขยะสาธารณะ (5) งบประมาณไม่เพียงพอ (6) ผู้สูงอายุไม่ได้รับการดูแลเรื่องสุขภาพ และ (7) ขาดการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ 7. ข้อเสนอแนะ ได้แก่ (1) ควรเน้นการสร้างบรรยากาศการเรียนรู้แบบไม่เป็นทางการ ให้มากขึ้น (2) องค์การบริหารส่วนตำบลแม่ใส ควรมีการจัดระบบการติดตามการดำเนินงานอย่างสม่ำเสมอ และ (3) องค์การบริหารส่วนตำบลแม่ใส ควรมีการประสานความร่วมมือกับองค์กรเอกชนและภาคประชาสังคมให้มากขึ้น
- ดาวน์โหลดเอกสาร: ดาวน์โหลด
- ปี: 2555
- Author: วรรณภา ทองแดง