ผลงานวิจัย : คณะรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ : มหาวิทยาลัยพะเยา

การจัดการความรู้เพื่อพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในชุมชนดอยผาหมีวนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอนจังหวัดเชียงราย

โครงการ “การจัดการความรู้เพื่อพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในชุมชนดอยผาหมีวนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอนจังหวัดเชียงราย” มีสองวัตถุประสงค์ ประกอบด้วย 1) เพื่อค้นหาและรวบรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับการจัดการแหล่งท่องเที่ยว สำหรับพื้นที่ท่องเที่ยวชุมชนดอยผาหมี จังหวัดเชียงราย และ 2) เพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้ด้านการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวแก่กลุ่มเป้าหมายที่เกี่ยวข้องในชุมชนดอยผาหมี อำเภอ แม่สาย จังหวัดเชียงราย คณะทำงานได้เลือกใช้กระบวนการจัดความความรู้ที่ประกอบด้วยกิจกรรมหลักคือ การสำรวจความรู้ การรวบรวมพัฒนา การจัดเก็บสังเคราะห์ และการถ่ายทอดความรู้ ซึ่งกิจกรรมการรวบรวมความรู้ ฝังลึก (Tacit Knowledge) ได้ใช้การสัมภาษณ์เชิงลึกกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการบริหารจัดการการท่องเที่ยวชุมชนดอยผาหมี ทั้งนี้ จากการสำรวจ รวบรวมและสังเคราะห์องค์ความรู้ พบว่า องค์ความรู้ที่จำเป็นสำหรับการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวดอยผาหมีประกอบด้วย 1) การจัดการการสิ่งแวดล้อมเพื่อการท่องเที่ยว 2) การเป็นเจ้าบ้านที่ดี (การต้อนรับนักท่องเที่ยว) 3) สินค้าทางวัฒนธรรมเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยว และ 4) การตลาดการท่องเที่ยว ซึ่งได้มีการตรวจสอบ จัดทำเป็นรูปเล่ม และถ่ายทอดความรู้ทั้งสี่หลักสูตรผ่านการฝึกอบรม แก่ผู้ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ชุมชนท่องเที่ยวดอยผาหมี จำนวน 20 คน สำหรับกระบวนการถ่ายทอดความรู้สู่ชุมชนดอยผาหมี ได้มีการประเมินผลคู่มือองค์ความรู้ทั้ง สี่หลักสูตรข้างต้น ในห้าประเด็น ประกอบด้วย เนื้อหาของคู่มือ จำนวนชั่วโมงที่ใช้ในการอบรม ภาพประกอบในคู่มือ ภาษาที่ใช้ในคู่มือ และการนำไปใช้ได้จริงในพื้นที่ ในภาพรวมผู้เข้าร่วมกิจกรรมมีความเห็นว่า คู่มือองค์ความรู้ทั้งหมดมีความเหมาะสมระดับมาก เมื่อพิจารณาแต่ละคู่มือองค์ความรู้ พบว่า คู่มือความรู้ประเด็นการตลาดการท่องเที่ยวมีค่าเฉลี่ยสูงที่สุด ( = 4.12) รองลงมาคือ คู่มือความรู้ประเด็นการเป็นเจ้าบ้านที่ดี (การต้อนรับนักท่องเที่ยว) ( = 3.96) คู่มือความรู้ประเด็นการจัดการสิ่งแวดล้อมเพื่อการท่องเที่ยว ( = 3.91) และคู่มือความรู้ประเด็นสินค้าทางวัฒนธรรมเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยว( = 3.75) ชุมชนดอยผาหมี ได้มีการจัดตั้ง “ชมรมการท่องเที่ยวดอยผาหมี” ซึ่งเป็นองค์กรชุมชนที่ทำหน้าที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบไม่เป็นทางการ และเป็นเป็นหน่วยประสานงานระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่มาส่งเสริมการท่องเที่ยว รวมทั้งการเป็นหน่วยงานที่ช่วยความรู้ด้านการท่องเที่ยว การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวผ่านกลไกในชุมชนด้วยกระบวนการจัดการความรู้ จะหนุนเสริม วิสัยทัศน์ เชียงราย : เมืองแห่งการค้า การลงทุน การเกษตร และการท่องเที่ยว รุ่งเรืองด้วยวัฒนธรรมล้านนา ประชาชนอยู่เย็นเป็นสุข” โดยเฉพาะประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 3 : การดำรงฐานวัฒนธรรมล้านนา เพื่อเพิ่มมูลค่าการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เชิงนิเวศ และเชิงสุขภาพ