ผลงานพัฒนาวิชาการ : คณะรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ : มหาวิทยาลัยพะเยา
ทฤษฎีและวิธีวิทยาทางสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
เอกสารคำสอนฉบับนี้ เป็นการพยายามรวมรวมเนื้อหาและองค์ความรู้ทางด้านสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ทั้งด้านพัฒนาการ ความรู้เบื้องต้น แนวคิดทฤษฎีในตะวันตกตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ตลอดจนพัฒนาการของศาสตร์ทางด้านสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาในสังคมไทย ในเอกสารเล่มนี้ แบ่งเนื้อหาออกเป็น 4 ตอน ประกอบด้วย ตอนที่ 1 กล่าวถึงพื้นฐานทางประวัติศาสตร์ขององค์ความรู้ทางสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา แบ่งเป็น 3 บท คือ 1) รากเหง้าของสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา 2) พื้นฐานทางประวัติศาสตร์ของสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาในยุคต้น (ศตวรรษที่ 19 - ต้นศตวรรษที่ 20) และ 3) พื้นฐานทางประวัติศาสตร์ของสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาในยุคหลัง (ศตวรรษที่ 20) ในตอนที่ 1 นี้ ชี้ให้เห็นถึงความเชื่อ ค่านิยมในสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองของสังคมยุโรปในสมัยเริ่มแรกในยุคที่มีการปฏิวัติอุตสาหกรรม ซึ่งถือได้ว่าเริ่มเกิดการศึกษาศาสตร์ทางสังคมขึ้นแล้ว โดยสภาพการณ์ทางสังคมดังกล่าวมีอิทธิพลต่อการก่อรูปก่อร่างขององค์ความรู้ในทางสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ตลอดจนทำให้เนื้อหาสาระของสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาเป็นความพยายามที่จะอธิบายสภาพทางสังคมและปัญหาที่เกิดขึ้นของยุโรปในสมัยนั้น และนำไปสู่การตั้งคำถามถึงสภาพทางสังคมที่เหมาะสม ที่ควรจะเป็นในการก้าวเข้าสู่สภาวะทางสังคมที่ดี นอกจากนั้น ประวัติศาสตร์ของสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาสมัยหลัง ถือได้ว่าเป็นการแพร่ขยายความคิดจากยุโรปไปสู่ประเทศในภูมิภาคต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ที่สหรัฐอเมริกา เป็นประเทศที่ได้นำแนวความคิดทางสังคมวิทยาและมานุษยวิทยามาใช้และศึกษากันอย่างกว้างขวาง มีการพัฒนาแนวคิดและทฤษฎีต่าง ๆ ขึ้นมามากมายจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นการพัฒนาทางทฤษฎีที่อยู่ในบริบทของการสร้างชาติอเมริกาและการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสังคมอเมริกันขณะนั้น ขณะเดียวกัน ในตอนที่ 1 ได้กล่าวถึงคุณูปการของผลงานที่สำคัญ ๆ ของนักสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาในสมัยต่าง ๆ ที่กระทำให้เกิดความตื่นตัวในการพัฒนาแนวคิดความของนักสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาในสมัยหลังในระยะต่อมา อันนับว่าเป็นความต่อเนื่องและสืบต่อทางความคิดที่คลี่คลายมาเป็นแนวคิด ทฤษฎีทางสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาในสมัยปัจจุบัน ในตอนที่ 2 แบ่งเป็น 2 บท ได้แก่ 1) กล่าวถึงสาระสำคัญขององค์ความรู้ทางด้านสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาเกี่ยวกับความหมาย ลักษณะที่สำคัญ ขอบเขตขององค์ความรู้ วิวัฒนาการและความแตกต่าง ตลอดจนความสัมพันธ์กับศาสตร์อื่น ๆ เช่น วิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ และสาขาต่าง ๆ ของสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา และ 2) กล่าวถึงความรู้เบื้องต้นทางสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาในการทำความเข้าใจเกี่ยวกับศัพท์ต่าง ๆ ที่ใช้ในการศึกษาสังคมและวัฒนธรรมโดยสังเขป แก่ วัฒนธรรม (culture) การจัดระเบียบทางสังคม (social organization) การขัดเกลาทางสังคม (socialization) การกระทำทางสังคม (social action) กลุ่มสังคม (social groups) ลำดับชั้นทางสังคม (social stratification) สถาบันทางสังคม (social institution) การเสียระเบียบและการเปลี่ยนแปลงทางสังคม (social disorder and social change) สังคมวิทยาและมานุษยวิทยาประยุกต์ (applied sociology and anthropology) ตอนที่ 3 ซึ่งถือว่าเป็นตอนสำคัญของเอกสารคำสอนเล่มนี้ แบ่งเป็น 8 บท กล่าวถึงเนื้อหาสาระโดยละเอียดของแนวคิด และทฤษฎีทางสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ได้แก่ 1) ทฤษฎีวิวัฒนาการทางสังคมและวัฒนธรรม (Socio-Cultural Evolution Theory) 2) ทฤษฎีโครงสร้าง-หน้าที่ (Structural and Functional Theory) 3) ทฤษฎีสังคมวิทยาความขัดแย้ง (Conflict Theory) 4) ทฤษฎีปฏิสังสรรค์สัญลักษณ์ (Symbolic Interaction Theory) 5) ทฤษฎีการแลกเปลี่ยนทางสังคม (Social Exchange Theory) 6) แนวคิดวัฒนธรรมและบุคลิกภาพ (Cultural and Personality) 7) แนวคิดโครงสร้างนิยม (Structuralism) และ 8) แนวคิดหลังโครงสร้างนิยมและหลังทันสมัยนิยม (Post- Structuralism & Postmodernism) นอกเหนือจากการอธิบายแนวความคิดและทฤษฎีโดยละเอียดแล้ว ส่วนหนึ่งพยายามอธิบายให้เห็นถึงความสัมพันธ์ ความขัดแย้งทางความคิดของทฤษฎีต่าง ๆ ตลอดจนจุดแข็ง ปัญหา และข้อจำกัดของแนวคิดทฤษฎีแต่ละด้าน อย่างไรก็ตาม ในแต่ละทฤษฎีมีพัฒนาการที่ต่อเนื่องและส่งต่อให้เกิดอีกทฤษฎีหนึ่งมาจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะการพยายามนำแนวคิดทางสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาในระดับมหภาคและระดับจุลภาคเข้ามาผสมผสานและผนวกกันในสมัยหลัง และการพยายามพัฒนาการศึกษาวิจัยทางสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ได้ก่อให้เกิดการวิพากษ์ความพยายามดังกล่าว ตั้งแต่ในระดับญาณวิทยาจนถึงเทคนิควิธีการของทฤษฎีสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาจากแนวความคิดใหม่ คือลัทธิหลังโครงสร้างนิยมและหลังทันสมัยนิยม อนี่ง เนื้อหาสาระของเอกสารคำสอนเล่มนี้ เป็นการพยายามรวบรวมศาสตร์ทางด้านสังคมวัฒนธรรมในทฤษฎีสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาร่วมกัน เนื่องจากองค์ความรู้ทั้งสองด้านไม่อาจแยกอธิบายส่วนใดส่วนหนึ่งได้ ดังนั้น เวลาที่อธิบายถึงทฤษฎีใดทฤษฎีหนึ่ง จะเป็นการอธิบายทฤษฎีนั้น ๆ ในมุมมองที่นักสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาได้ศึกษาและใช้กรอบทางแนวคิดทฤษฎีนั้นเอาไว้ และต่างก็ส่งเสริมและเอื้อให้ภาพของทฤษฎีทางสังคมและวัฒนธรรมนั้นชัดเจนยิ่งขึ้น.
- ดาวน์โหลดเอกสาร: ดาวน์โหลด
- ปี: 2560
- Author: มนตรา พงษ์นิล